แพทย์ไทยเรานั้น ได้จัดแบ่งรสของตัวยาออกเป็น ๙ รสคือ

๑. รสฝาด

๒. รสหวาน

๓. รสเมาเบื่อ

๔. รสขม

๕. รสเผ็ดร้อน

๖. รสมัน

๗. รสหอมเย็น

๘. รสเค็ม

๙. รสเปรี้ยว

และเมื่อท่านจำแนกออกเป็นรสต่างๆ ดังกล่าว ๙ รสแล้ว ก็ทำให้สามารถจะใช้สมุนไพรมาปรุงแต่งเป็นยาบำบัดโรคได้ ทำให้รู้ว่ารสยาใดควรจะใช้แก้อาการโรคใด รสยาใดทื่ทำให้ตัวยาขัดกัน ไม่สามารถจะนำมาปรุงเข้าด้วยกันได้

นอกจากนี้ ถ้าหากจะให้สมุนไพรที่ไปเก็บมาใช้ทำการปรุงเป็นยานั้น มีสรรพคุณดียิ่งขึ้นไปแล้ว แพทย์ไทย์ยังจะต้องมีวิธีเก็บยาอีกด้วย(ในสมัยโบราณ แพทย์ไทยเราต้องเก็บยาเอง ไม่ใช่ไปซื้อเครื่องยาอย่างเช่นสมัยนี้)ฉะนั้น การเก็บยาท่านจะต้อง

ก.เก็บตามฤดู ปีหนึ่งๆท่านแบ่งออกเป็น๓ฤดูคือ

๑. คิมหันตฤดู คือฤดูร้อน ท่านเก็บที่รากไม้และแก่น เพราะฤดูร้อนสรรพคุณรวมอยู่ที่รากและแก่น

๒. วสันตฤดู คือฤดูฝน ท่านให้เก็บที่ใบ ลูก ผลและดอก เพราะฤดูฝนนี้ ใบ ดอก ลูกและผล ได้รับน้ำฝนมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ และสดชื่น สรรพคุณจึงอยู่ที่ใบ ดอก  ลูกและผล

๓. เหมันตฤดู คือฤดูหนาว ให้เก็บที่เปลือกต้น กระพี้ และเนื้อไม้ เพราะอากาศหนาว เนื้อไม้ แก่น กระพี้ เป็นที่ป้องกันความหนาวเย็น และรวมเอาสรรพคุณของยาเอาไว้ที่เนื้อไม้ แก่น และกระพี้

ข.เก็บยาตามยาม ท่านแบ่งออกเป็นเวลากลางวันและกลางคืน กลางวันมี๔ ยาม กลางคืนมี๔ยาม ดังนี้

กลางวัน  ยามที่ ๑ เวลา 0๖.00น. ถึง 0๙.00 น.ท่านให้เก็บใบ ดอก ลูก เพราะเวลาเช้าใบ ดอก ลูก ได้รับน้ำค้าง มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ สรรพคุณจึงรวมอยู่ที่ ใบ ดอก ลูก

             ยามที ๒ เวลา 0๙.00 น. ถึง ๑๒.00 น.ท่านให้เก็บที่กิ่ง และก้าน เพราะเป็นเวลาสาย ใบ ดอก ลูก ถูกแสงพริ่งะอาทิตย์ สรรพคุณจึงรวมอยู่ที่กิ่ง ก้าน ทำให้กิ่ง ก้านมีสรรพคุณดีขึ้นกว่าส่วนอื่น

             ยามที่ ๓ เวลา ๑๒.00 น.ถึง ๑๕.00 น.เพราะเวลาบ่าย ความร้อนไปรวมอยู่ที่ต้น เปลือก แก่น จึงทำให้ต้น เปลือก เและแก่นมีสรรพคุณดี จึงต้องเก็บต้น เปลือก และแก่น

             ยามที่ ๔ เวลา ๑๕.00 น.ถึง ๑๘.00 น.เพราะความร้อนไปอยู่ที่ลำต้นมาก  สรรพคุณจึงลงไปรวมอยู่ที่ราก ทำให้รากมีสรรพคุณดี จึงต้องเก็บที่ราก

กลางคืน  เวลากลางคืนนี้ ท่านก็แบ่งออกเป็น ๔ ยามเช่นเดียวกัน และในการเก็บยาก็มีเหตุผลเช่นเดียวกันกับเวลากลางวัน ต่างกันแต่เวลาเก็บย้ายไป และเวลากลางคืนก็ไม่นิยมเก็บกันนัก ซางท่านได้แบ่งเก็บดังนี้

           ยามที่ ๑ เวลา ๑๘.00 น. ถึง ๒๑.00 น. ท่านให้เก็บที่ราก

           ยามที่ ๒ เวลา ๒๑.00 น.ถึง ๒๔.00 น. ท่านให้เก็บที่ต้น เปลือก และแก่น

           ยามที่ ๓ เวลา ๒๔.00 น.ถึง 0๓.00 น. ท่านให้เก็บที่กิ่ง  ก้าน

           ยามที่ ๔ เวลา 0๒.00 น.ถึง 0๖.00 น. ท่านให้เก็บที่ใบ ดอก ลูก และผล

ที่มาจาก ชุมนุม สมุนไพรไทย โดย พ.ต.ต. ปราโมทย์ ศรีภิรมย์ พ.บก.บว

             นายกสมาคมแพทย์แผนโบราณแห่งประเทศไทย

Share this page